เอไอเอส แจงเหตุผลที่หยุดสู้ชิงคลื่น 900 MHz ยืนยันคลื่นเพียงพอสำหรับส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า

เอไอเอส แจงเหตุผลที่หยุดสู้ชิงคลื่น 900 MHz ยืนยันคลื่นเพียงพอสำหรับส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้า

[19 ธ.ค. 58 ]รายงานข่าวจากบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น (AWN) ในเครือเอไอเอสระบุว่า การที่ตัดสินใจไม่ประมูลคลื่น 900 MHz ต่อถือเป็นการตัดสินใจที่บริษัทได้พิจารณามาแล้วอย่างรอบคอบ เนื่องจากเอไอเอสเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นการวางแผนในการดำเนินธุรกิจจึงต้องมีความรอบคอบ มีการศึกษาและพิจารณาถึงความเสี่ยง โอกาส ความน่าจะเป็นในหลายประการ เพื่อให้ได้มาซึ่งแนวทางการจัดการที่ดีที่สุด

ก่อนหน้าที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz เอไอเอสได้ศึกษาเพื่อกำหนดราคาประมูลที่เหมาะสมทางธุรกิจว่าควรเป็นเท่าไร อย่างไร รวมทั้งได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาร่วมคาดการณ์ถึงผลลัพธ์และความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการประมูลทั้งในกรณีที่เอไอเอสชนะการประมูล หรือหากคู่แข่งชนะการประมูล ราคาที่ได้ไปมีความเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงหากราคาในการประมูลสูงกว่าราคาเหมาะสมที่บริษัทได้ศึกษาไว้จะมีแผนรองรับอย่างไรต่อไป ซึ่งในกรณีนี้เมื่อราคาการประมูลขึ้นไปสูงเกินกว่าราคาเหมาะสมที่บริษัทกำหนดไว้จึงตัดสินใจไม่ประมูลต่อ

อีกทั้งอนาคตยังจะมีการประมูลคลื่นความถี่อื่น ๆ ตามที่ กสทช.ประกาศไว้ อาทิ คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งจะสิ้นสุดสัมปทานกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม หรือ แคท ในอีก 3 ปีข้างหน้า และคลื่นความถี่ 2300 MHz/2600 MHz และที่มีปริมาณ Bandwidth อีกมาก เป็นต้น

และเอไอเอสได้พิจารณาประเด็นต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงความเพียงพอของคลื่นความถี่ต่อการแข่งขันในอนาคต การตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ยังคงใช้มือถือ 2G รวมถึง การคงความแข็งแกร่งในด้านการเงินของบริษัท ทั้งขอยืนยันว่ามีคลื่นความถี่มากเพียงพอสำหรับการบริหารจัดการเพื่อการส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้ลูกค้าทั้งคลื่น 2100 MHz ที่สามารถให้บริการ-3G ได้ทั่วประเทศ และยังมี bandwidth ที่เพียงพอในการขยาย capacity ต่อเนื่อง และคลื่น 1800 MHz ที่ประมูลมาได้ในเดือนที่แล้ว ซึ่งจะเปิดให้บริการ 4G ต่อไป รวมถึงความร่วมมือระหว่างบริษัทกับ บมจ.ทีโอที (TOT) ที่อยู่ระหว่างการเจรจา

สำหรับลูกค้าของเอไอเอสที่ยังใช้งานในระบบ 2G บนคลื่นความถี่ 900 ปัจจุบันเหลืออยู่จำนวนไม่มาก และบริษัทเตรียมแผนงานและมั่นใจว่าจะสามารถดูแลลูกค้าทั้งหมดได้ในระยะเวลาอันใกล้นี้ โดยปีที่ผ่านมาความสำเร็จของมือถือรุ่น LAVA หลากหลายรุ่นได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างดีทำให้มีลูกค้าจำนวนมากยังเปลี่ยนเครื่องจาก 2G มาเป็น 3G อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ เมื่อบริษัทตัดสินใจไม่ประมูลต่อจะทำให้บริษัทมีกระแสเงินสดที่แข็งแรงสามารถนำเงินจำนวนนี้มาใช้ในการลงทุนโครงข่าย 4G ได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาปรับปรุงโครงข่าย 3G ที่ยังมีการเติบโตสูงให้ดียิ่งขึ้น และการลงทุนในธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ AIS Fibre

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า AWN ในเครือเอไอเอสเสนอราคาสุดท้ายที่ 75,976 ล้านบาท ในไลเซนส์ที่ 2 ขณะที่ราคาเริ่มต้นประมูลอยู่ที่ 12,864 ล้านบาท อีกรายที่พลาดเช่นกันคือบริษัท ดีแทคไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาสุดท้าย 70,180 ล้านบาท ในไลเซ่นส์ที่ 1 แพ้ทรูมูฟเอช และแจสที่ชนะไปในราคา 76,298 ล้านบาท และ 75,654 ล้านบาท ในไลเซ่นส์ที่ 1 และ 2 ตามลำดับ

Related Posts

ใส่ความเห็น